พระสมเด็จแผง หลวงปู่ยิ้ม
พระเครื่องเนื้อดินเผา หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด ที่หายากและไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก ก็คงจะมีพระสมเด็จแผง อีกพิมพ์ที่เราอาจไม่รู้จัก ไม่เหมือนกับพระพิมพ์งบน้ำอ้อย ที่หาได้ง่ายกว่ามาก ด้วยความที่มีจำนวนน้อย และหายาก จึงเป็นพระเครื่องอยุธยา ที่ใครๆ ก็ใฝ่หากัน หากใครมีก็จะหวงแหนยิ่งนัก
พระสมเด็จแผง หลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2475 หรืออาจจะสร้างก่อน เป็นพระเนื้อดินเผาพิมพ์ พระสมเด็จ นังขัดสมาธี ปรกโพธิ์ ในซุ้มเรือนแก้ว บางองค์มีการทาสีบรอนซ์ทองไว้ที่ด้านหน้าด้วย

สำหรับชื่อพิมพ์และที่มาของคำว่า "สมเด็จแผง" นั้น ก็เนื่องจากว่าพระพิมพ์นี้เมื่อได้มีการจัดสร้างและทำพิธีกรรมตามตำราแล้ว หลวงปู่ยิ้มท่านไม่ได้แจกจ่ายให้ใครไป หรือใส่กรุไว้ เนื่องจากกดพิมพ์มาจำนวนไม่มาก ท่านได้นำไปไปติดไว้ข้างฝาผนัง โดยใช้ยางไม้ทาบริเวณด้านหลังองพระให้เหมือนกับทากาว และนำไปเรียงติดไว้ที่บริเวณฝาผนังที่หัวนอนท่าน จนเป็นแผง ใครๆ ได้พบเห็นก็จะเรียกว่า "พระสมเด็จแผง"
ด้วยหลวงปู่ยิ้มท่านก่อนจำวัด (นอน) ท่านจะทำสมาธิ สวดมนต์ภาวนา ทบทวนตำราต่างๆ ท่านก็ทำในกุฏิท่านทุกวันมิได้ขาด จึงทำให้พระสมเด็จแผงของหลวงปู่ยิ้มที่ติดไว้หัวนอนท่าน ได้รับการปลุกเสกจากหลวงปู่ยิ้ม อยู่ทุกวันเป็นประจำเรื่อยมา
ภายหลังจากหลวงปู่ยิ้มท่านมรณภาพ พระสมเด็จแผงจึงถูกแกะออกมาแจกจ่ายกันไปในหมู่ญาติโยมทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่ามีจำนวนไม่มากมายเหมือนพระงบน้ำอ้อยแน่นอน

พระสมเด็จแผงอาจมีพิมพ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่สามารถแยกแยะจากพระสมเด็จเนื้อดินของหลวงปู่ยิ้มได้โดยทั่วไปก็คือ ด้านหลังของพระสมเด็จแผงจะมีร่องรอยการแกะออกจากแผง เนื้อดินด้านหลังผิวจะเปิดเห็นเนื้อใน เพราะพื้นผิวด้านนอกอาจติดแน่นอยู่กับผนังนั่นเอง
สรุป พระสมเด็จแผงหลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด เป็นพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังจะมีรอยแกะออกจากแผง ผิวเนื้อจะเปิดออก มีจำนวนไม่มากนัก และหายาก เป็นพระเนื้อดินเผาที่เชื่อกันว่ามีพุทธคุณมากเป็นพิเศษเนื่องจากอยู่ในกุฏิหลวงปู่ยิ้มจนท่านมรณภาพไป จึงได้นำออกมา ซึ่งท่านได้ปลุกเสกอยู่เป็นประจำทุกวันทุกคืน มีพุทธคุณรอบด้านนานับประการ นับเป็นพระเนื้อดินเผาที่พิเศษมากๆ อีกพิมพ์หนึ่ง ของพระเครื่องหลวงปู่ยิ้มวัดเจ้าเจ็ด พระเครื่องแห่งอยุธยา