พระเครื่องหายาก ! ราคาสูง หลวงพ่อโตบางกระทิง
พูดกันได้เต็มปากเลยครับ ว่าสมัยเมื่อผมหัดเล่นพระก่อนนั้น พระกรุเนื้อดินอยุธยาอย่าง "หลวงพ่อโตกรุบางกระทิง" ราคาประมาณ 500-600 บาท สวยๆ ก็ราคาหลักพันนิดๆ เป็นพระกรุที่ไม่ค่อยมีคนสนใจให้ราคามากนัก หากเทียบชั้นกับพระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างของจังหวัดสุพรรณบุรี ในตอนนั้น แต่มาบัดนี้ ราคาพระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิง สภาพหล่อๆ ฟอร์มแมนๆ ก็หลายหมื่นแล้วหละครับ เทียบชั้นกันได้สบาย

พระหลวงพ่อโตกรุวัดบางกระทิง เป็นพระเนื้อดินที่นิยมสร้างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีสองพิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพมารวิชัย และพิมพ์สมาธิ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างล้อพิมพ์มาจาก พระพุทธชินราช ที่มีซุ้มรัศมี และในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นพระมหากษัตริย์ก็นับถือ พระพุทธชินราช เป็นอย่างมาก ที่สำคัญเราก็พบพระพิมพ์หลวงพ่อโตนี้ที่ จังหวัดพิษณุโลกด้วยเช่นกัน คือ "หลวงพ่อโตกรุวัดชีปะขาวหาย" คาดว่าน่าจะมีการสร้างพระพิมพ์หลวงพ่อโตนี้เรื่อยๆมาทุกยุคทุกสมัยในอยุธยา จะมีมากบ้างน้อยบ้างก็ตามแต่ละสถานที่

จนมาถึงยุคหนึ่งนั้น ได้มีการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ของพระกรุเนื้อดินพิมพ์นี้ ก็เพราะมีการพบพระกรุพิมพ์นี้จำนวนมากมายหลายหมื่นองค์ที่ "วัดบางกระทิง" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คนอยุธยาในยุคนั้น เห็นพระองค์ใหญ่ล่ำคล้าย "พระหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง" จึงเรียกติดปากว่า "หลวงพ่อโต" และต่อท้ายด้วย "กรุวัดบางกระทิง" เมื่อพระกรุเนื้อดินพิมพ์นี้ได้แพร่กระจายออกไป จึงทำให้เรียกติดปากว่า "พระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิง" และไม่ว่าจะพบพระพิมพ์นี้แตกกรุที่วัดใดๆ ในประเทศไทย ก็มักจะเรียกว่า "พระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิง"

ค่านิยมพระหลวงพ่อโตกรุวัดบางกระทิงในปัจจุบันนี้ สภาพสวยๆ สมบูรณ์ ทะลุหลักหมื่นไปจนหลายหมื่นแล้ว หย่อนสวยลงมาหน่อยก็ราคาหลักพัน ซึ่งก็ต้องว่าราคากันไปตามสภาพ เพราะเดี๋ยวนี้กลายเป็นพระหายากไปเสียแล้ว
การเช่าหาพระหลวงพ่อโตกรุบางกระทิงนั้น ต้องระมัดระวัง เรื่องของปลอมและจับผิดราคา เนื่องจากครั้งที่พระหลวงพ่อโตแตกกรุออกมานั้นมีแม่พิมพ์อยู่ในกรุด้วย ซึ่งทราบว่าทางวัดมีการจัดสร้างโดยใช้แม่พิมพ์เดิม และปลุกเสกใหม่ ซึ่งแน่นอนความสวยงามมีครบทุกประการแต่ความเก่าแกร่งแบบพระกรุนั้นไม่มี ซึ่งก็ต้องเล่นหากันราคาเบาๆ หากจะเล่นเป็นพระเก่าที่ราคาค่อนข้างสูง ก็ให้เน้นดูความเก่าแก่ของเนื้อดินเผาให้เป็น ว่าเก่าถึงยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นของปลอมก็อาจจะผิดเนื้อ ผิดพิมพ์ไปเลย ก็น่าจะพิจารณาได้ง่ายกว่ามาก
เอื้อเฟื้อภาพโดย : เล็กโรงไม้ อยุธยา