เล่นพระอย่างไรไม่ให้โดน พระเก๊ !

สำหรับนักนิยม นักสะสมพระเครื่อง หลายๆท่านคงจะเคยได้ยินคำพูดว่า "พระผิดพิมพ์" อยู่บ่อยๆใช่ไหมครับ ซึ่งคำพูดนั้นก็ตีความหมายได้ว่าเป็นพระเลียนแบบหรือพระเก๊นั่นเอง 

แล้วถ้าอย่างนั้นผู้ที่จะสะสมพระเครื่องทั้งหลายจะทราบได้อย่างไรหล่ะว่าพระองค์นั้นถูกพิมพ์ หรือว่าผิดพิมพ์ เราก็ต้องทราบก่อนว่าพระทุกประเภทนั้น จะต้องมีแม่พิมพ์ในการสร้างขึ้นมาเสมอ ซึ่งอาจจะมีหลายแม่พิมพ์ในพระประเภทเดียวกันก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเราก็ต้องศึกษาก่อนว่าพระประเภทนั้นๆมีกี่แม่พิมพ์หรือกี่บล็อก ซึ่งเราสามารถสังเกตุพระรุ่นใหม่ๆได้ ว่าพระที่สร้างจากแม่พิมพ์เดียวกันจะต้องมีรายละเอียดในองค์พระนั้นๆ เหมือนกัน 100% เช่น ตัวอักษร, เนื้อเกิน, ตุ่มนูน, ลายเส้นที่เกิดจากการแกะแม่พิมพ์, รอยขีดข่วน, รอยต่างๆบนแม่พิมพ์เดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นหากพระในรุ่นเดียวกันที่มีลักษณะใดๆที่แตกต่างจากพระที่มาจากพิมพ์เดียวกันนั้น ย่อมเป็นพระที่ผิดพิมพ์หรือมาจากแม่พิมพ์ตัวอื่นที่ทำขึ้นมาใหม่ หรือพระเก๊นั้นเอง ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงในพิมพ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล  

"พระผิดเนื้อ" คำพูดนี้ก็คงเคยได้ยินกันบ่อยเช่นกัน ลักษณะพระผิดเนื้อนั้นก็อธิบายได้ว่า พระที่มีเนื้อหามวลสาร หรือโลหะที่ไม่ตรงกันกับพระแท้ๆ ยกตัวอย่าง เช่น พระรุ่นใหม่บางรุ่น สร้างเป็นเนื้อทองแดงขัดเงา แต่พระเก๊นั้นจะเป็นเนื้อทองแดงผิวไฟ หรือบางรุ่นไม่ได้จัดสร้างเนื้อทองเหลือง แต่พระเก๊ก็มีเนื้อทองเหลืองออกมา สำหรับพระเก่าอย่างเช่นพระสมเด็จ หรือพระกรุเนื้อดินนั้น นอกจากจะดูพิมพ์เป็นลำดับแรกๆแล้ว เนื้อจะต้องดูเป็นลำดับที่สอง เช่นต้องดูเนื้อ ดูมวลสาร ดูร่องรอยความเก่า ในส่วนนี้ถ้าใครไม่เคยเห็นพระแท้หรือได้ส่องพระแท้มาก่อนก็ไม่สามารถแยกแยะได้

สำหรับพระเก๊ก็มักจะสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกขายให้กับคนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์และไม่ได้ศึกษาข้อมูลพระประเภทนั้นๆ อย่างจริงจัง บางคนยังไม่เคยเห็นพระแท้เลยด้วยซ้ำพอไปเจอพระเก๊ พิมพ์คล้ายๆ กับในหนังสือที่เคยดู มีตัวอักษรระบุชือเกจิยุคเก่าๆ หรือระบุ พ.ศ.เก่าๆ ก็คิดว่าได้พระดี พระเก่า มาไว้ในครอบครอง เก็บไว้นานไม่ได้ตรวจสอบจริงจัง บางครั้งตกไปถึงมือลูกหลานสืบทอดกันมา แต่พอนำออกมาแห่กลับไม่มีใครยอมซื้อเลยก็มี แล้วก็มักจะได้ยินเสมอๆ ว่า "พระของคุณปู่ คุณทวด" เก็บไว้นานแล้วจะเก๊ได้อย่างไร