เส้นทางพิชิตยอดเขาเทวดา

วันที่ 29 มกราคม 2565

ยอดเขาเทวดา อยู่ในอุทยานแห่งชาติพุเตยที่3 ตะเพินคี่ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,123 เมตร

หลายคนยังไม่ทราบ และก็ไม่เคยรู้ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวลักษณะนี้อยู่ด้วย มันเหมือนกับเป็นอุทยานที่ถูกลืม แต่ปัจจุบันเรื่องของการสื่อสารดีขึ้น ยอดเขาเทวดาและอุทยานแห่งนี้ ได้ถูกกล่าวถึงในโลกโซเซียลมิเดียอยู่เป็นประจำ

ยอดเขาเทวดา

จังหวัดสุพรรณบุรีมีอาณาเขตติดกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านของผม จะมัวรีรออะไรอยู่หล่ะครับ ผมจึงนัดหมายเพื่อนๆ เพื่อไปกางเตนท์นอนที่อุทยานแห่งชาติพุเตยสัก 1 คืน และช่วงเวลาเช้าหากเป็นไปได้ขอเดินขึ้นไปชมทะเลหมอกที่สวยงามตามคำร่ำลือ

ผมได้นัดแนะกับเพื่อนยูทูปเบอร์ท่านหนึ่ง ชื่อ “น้ายอดและเชฟกุ้งครัวบ้านทุ่ง” ซึ่งครัวน้ายอดก็จะร่วมเดินทางไปด้วยพร้อมครอบครัวรวม 4 คน และยังมีเพื่อนผมอีก 2 คนร่วมเดินทางไปด้วยกัน ส่วนรถของผมจะมี 3 คน พ่อ แม่ ลูกสาววัย 8 ขวบ

เช้าวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 ผมนัดแนะทุกคนให้ไปพบกันที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอบางปะหันก่อนที่จะเดินทางเข้า ป่าโมก อ่างทอง ไปอำเภอดอนเจดีย์ ออกด่านช้าง เข้าสู่อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 3

เมื่อทุกคนเดินทางมาพร้อม เราก็ออกเดินทาง โดยเพื่อนผม 2 คนขับรถกระบะนำหน้าเลี้ยวเข้า ป่าโมก อ่างทอง ผมก็ได้ขับตามมา แต่เมื่อมองดูกระจกหลังกลับมองไม่เห็นรถของ น้ายอด ซึ่งหายไป คาดว่าน่าจะขับรถตรงไปเข้าตัวจังหวัดอ่างทอง

ผมจึงโทรนัดทุกคนให้ไปจอดแวะปั๊มน้ำมัน เช็คโลเคชั่นของแต่ละคนก่อนที่จะเข้าดอนเจดีย์ เมื่อผมแวะเข้าปั๊มก็พบว่ารถของน้ายอดตามมาจอดในปั๊มแห่งเดียวกันพอดี เราจึงแวะพักเข้าห้องน้ำและซื้อของไว้ทานบนรถ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาแวะทานอาหารกันอีก

เมื่อทุกคนพร้อม ผมก็ขับนำทุกคนมุ่งหน้าไปยังอุทยานแห่งชาติพุเตยที่3 ตลอดสองข้างทางเป็นนาไร่ของชาวบ้านพื้นที่สุพรรณบุรีที่ทำการเกษตรกรรม มีทั้งนาข้าวและไร่อ้อย บางส่วนก็มีสวนยาง ยิ่งเราขับรถเข้าใกล้อุทยานก็จะเห็นเทือกเขาตลอดสองข้างทาง เราไม่ลืมที่จะจอดรถซื้ออาหารเอาไว้ทำกับข้าวทานกันในขณะตั้งแคมป์ปิ้ง และในที่สุดเราก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติพุเตยที่3 ตะเพินคี่

เส้นทางอีก 13 กิโลเมตรที่จะขึ้นไปสู่อุทยานแห่งชาติพุเตยที่3 ตะเพินคี่ จะเป็นทางหินลูกรังฝุ่นเยอะมากและวิ่งลัดเลาะไปตามไหล่เขา ด้านข้างจะเป็นหุบเหวลึก แต่ก็ถูกบดบังไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ทำให้ดูไม่น่ากลัวเท่าไหร่

การขับรถเส้นทางนี้ผมเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD (4L) เพื่อเวลาไต่ขึ้นเนินเขาจะขับขี่ง่ายขึ้น สำหรับรถครัวน้ายอดก็มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเช่นเดียวกัน แต่รถเพื่อนผมที่เป็นรถกระบะขับเคลือน 2 ล้อ ที่ขับตามหลังมาคันสุดท้าย มีบางเนินที่ต้องถอยหลังลงไป และเร่งเครื่องส่งกำลังขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี

เส้นทางนี้ระยะทาง 13 กิโลเมตร แต่เราใช้เวลาในการขับขี่ตามกันมาถึง 1 ชั่วโมง ช่วงเวลานี้ผมคิดว่ารถยนต์ที่เป็นรถเก่งหรือรถขับเคลื่อน 2 ล้อทั่วไปสามารถขับขึ้นได้ไม่ยาก แต่หากเป็นฤดูฝนก็ไม่ขอแนะนำให้ขึ้นไปครับ

ก่อนขึ้นเขาเราจะพบด่วนตรวจคัดกรองผู้เข้ามาเที่ยวอุทยาน ก็ลงมาเซ็นชื่อพร้อมเบอร์โทรตรวจวัดไข้ตามมาตรการกันก่อนนะครับ เมื่อเราเดินทางมาถึงอุทยานแห่งชาติพุเตยที่3 ตะเพินคี่ ผมก็ได้เข้าไปชำระค่าเข้าชมอุทยาน โดยมีอัตราค่าบริการดังนี้

ค่ารถยนต์ คันละ 30 บาท

ผู้ใหญ่ คนละ 20 บาท

เด็ก คนละ 10 บาท

ผมไม่ได้ตั้งใจจะกางเต็นท์พักแรมที่อุทยานแห่งนี้จึงไม่ได้ชำระค่าบริการพักแรมกางเต็นท์ที่นี่ แต่จะเข้าไปด้านในใกล้ยอดเขาเทวดา เป็นลานกางเต็นท์เอกชนที่ชื่อว่า “คุ ลุง ด่อง” ก่อนที่เราจะเดินทางเข้าไปยังลานกางเต็นท์เอกชน ไหนๆ เราก็มาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแล้ว ทุกคนก็ขอแวะทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำเสียหน่อย ปรากฏว่าห้องน้ำอุทยาน สะอาดมาก! ชื่นชมครับ

หลังจากนั้นก็เดินทางเข้าไปยังลานกางเต็นท์เอกชน ก็ขับลัดเลาะไปตามทางที่มีป้ายบอก ก็จะไปบรรจบที่ลานฝากรถ แต่ด้านในจะมีประตูรั่วไม้ไผ่กั้นเอาไว้ ก็ให้ถือวิสาสะเลื่อนไม้ไผ่เปิดประตู้เข้าไปได้เลยครับ(จริงๆโทรถามเจ้าของลานมาแล้ว)

เมื่อขับรถลัดเลาะไปตามทางในส่วนยาง ก็จะไปสิ้นสุดที่ลานกางเต็นท์ “คุลุงด่อง” ซึ่งอยู่ติดตีนเขาเทวดาเลยเชียว เป็นการย่นระยะทางเดินไปได้อีกหน่อยเวลาจะขึ้นยอดเขาเทวดาในวันรุ่งขึ้น

มาถึงแล้วก็จัดการชำระค่าบริการ โดยชำระค่าบริการคนละ 100 บาท สำหรับเด็กเล็กต่ำกว่า 12 ปีไม่เสียค่าบริการ

มาถึงแล้วก็เลือกสถานที่สำหรับกางเต็นท์กันตามอัธยาศัย แต่ว่าลานกางเต็นท์แห่งนี้ค่อนข้างจะโล่งแจ้งไปสักหน่อย ทำให้รู้สึกแห้งแล้ง พวกผมเลือกใต้ต้นไม้พุ่มเล็กๆ เพื่อกางเต็นท์ และอาศัยร่มเงาต้นไม้บรรเทาแสงแดดที่แผดร้อน แต่ว่าลมก็แรงเอาเรื่องเหมือนกัน

ลานกางเต็นท์คุลุงด่อง

ขณะที่เรากำลังกางเต็นท์กันอยู่ ลมก็พัดกรรโชกมาเป็นระยะๆ ทำให้การกางเต็นท์ค่อนข้างเหนื่ยเพราะต้องสู้กับแรงลม เมื่อกางเต็นท์กันเรียบร้อยก็ถึงเวลามานั่งคุยกันภายใต้บรรยากาศป่าเขาลำเนาไพร เครื่องดื่มเย็นๆ และอาหารที่เตรียมมาก็ถูกจัดการในครัวแคมป์ปิ้งข้างๆ เต็นท์

ที่ลานกางเต็นท์แห่งนี้ สามารถทำอาหารได้ทุกชนิด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เปิดเพลงฟังได้ แต่มีกฏว่าห้างส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นในช่วงเวลา 22:00 น. ขึ้นไป เมื่อถึงเวลาเราก็ปิดลำโพง และนั่งสนทนากันเงียบๆ

แต่ก็มีเต็นท์ข้างถัดไป ยังคงเปิดเพลงเสียงดัง และคุยกันเอะอะโวยวาย ไปจนถึงตี 1 กว่าๆ ถึงไม่มีใครเตือนแต่ก็น่าจะเคารพสิทธิคนอื่นๆ กันบ้างเพราะผมเห็นหลายเต็นท์มาเป็นแบบครอบครัว คงไม่มีใครอยากมากางเต็นท์ฟังเสียงเพลงและคนเมาสุราคุยกันแน่นอน หากจะกินเหล้าฟังเพลงผมว่าไม่ต้องขึ้นมากินบนอุทยานแถวๆ บ้านใครสักคนในกลุ่มก็น่าจะได้นะครับ ซึ่งพวกผมก็แยกย้ายกันเข้านอนกันประมาณ 5 ทุ่ม

แต่ด้วยเสียงเพลงและเสียงสนทนากันตลอดระยะเวลา ทำให้เรานอนกันไม่ค่อยหลับเต็มที่นัก ผมจึงลุกขึ้นมาตอนเกือบจะตีสาม ไปเข้าห้องน้ำ เมื่อเดินกลับมาก็เห็นเพื่อนๆ ทยอยกันลุกขึ้นมาทำธุระส่วนตัวและจัดแจงเตรียมที่จะขึ้นสู่ยอดเขาเทวดา

เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว โดยมีตัวผมเอง และเพื่อนชายอีก 2 คน น้ายอดกับลูกสาววัย 14 ปีอีก 1 คน รวมกัน 5 คน ก็เดินไปยังตีนเขาเพื่อจะไปยังทางขึ้นเขาเทวดา

แต่เนื่องจากเป็นคืนเดือนมืดมาก เรามองอะไรรอบๆตัวไม่ค่อยเห็น ต้องอาศัยแสงไฟจากไฟฉาย ซึ่งทุกคนมีติดตัวคนละ 1 กระบอก ต่างก็ฉายไปไปตามเส้นทางเดินเท้า ซึ่งมันก็ทำให้พวกเราหลงไปอีกทาง จนหาทางขึ้นเขาไม่เจอ จึงต้องเดินกลับมายังจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

คราวนี้พวกเราฉายไฟไปรอบๆ แนวป่า จึงเห็นแนวต้นไม้เป็นช่องลึกสีดำๆ ทำให้เราสัญนิษฐานได้ว่าเป็นช่องทางขึ้นเขาเทวดาแน่นอน จึงได้มุ่งหน้าลงเนินและเดินขึ้นเนินไปทางด้านนั้น ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะเราจะเห็นป้ายชี้ไปยังทางขึ้น

ทางขึ้นยอดเขาเทวดา

แค่เริ่มต้นก็เล่นเอาพวกเราเหนื่อยหอบกันไม่เป็นท่า นี่ขนาดยังไม่ได้เดินขึ้นยอดเขานะครับ แค่ตีนเขาก็ทำเอาพวกเราปวดขากันแล้ว แต่เมื่อพวกเราได้เห็นซุ้มทางขึ้นยอดเขาก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนพิชิตอเราก้าวเดินขึ้นสู่ยอดเขา จะเห็นว่ามีการก่อสร้างบันไดทางขึ้นเขาค้างคาอยู่ในช่วง 50 เมตรแรก ซึ่งจะมีเหล็กแบบและคอนกรีต พร้อมกับเหล็กเส้นข้ออ้อยปักอยู่ตามทางเดิน ทำให้พวกเราต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ

ผ่าน 100 เมตรแรกก็ทำเอาพวกเราหอบเหนื่อยกันไม่เป็นท่า เพื่อนผมอีก 2 คน ที่มีพื้นฐานนักฟุตบอลที่มักจะเตะบอลกันทุกเย็นก็สามารถเดินนำขึ้นไปได้โดยไม่เหนือยหอบเท่าไหร่

สำหรับผมที่ทำงานแต่ในออฟฟิต วันๆ ไม่ค่อยขยับร่างกายนัก แต่ก็อาศัยออกมาเดินสวนสาธารณะช่วงเย็นๆ ที่บ้านวันละ 1 ชั่วโมง ก็พอทำให้ร่างกายได้ยืดเส้นยืดสาย และมาขึ้นเขาครั้งนี้ก็จะเหนื่อยในช่วงแรกแต่ก็ยังพาร่างกายไปต่อได้อยู่

800 เมตร บนยอดเขาเทวดา

 

สำหรับ น้ายอด มีธุรกิจส่วนตัว ตกเย็นมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ก็ทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยมากกว่าทุกคน แต่พวกเราก็พยายามที่จะให้กำลังใจซึ่งกันและกันและพากันเดินขึ้นต่อไปทีละ 100 เมตร

ลูกสาวน้ายอดเพื่อนผม ยังเป็นเด็กวัยรุ่น ผมแทบจะไม่ได้ยินเสียงหอบจากลมหายใจของเธอเลย เหมือนเป็นปกติมาก นี่แหล่ะทำให้เราได้เห็นว่า เด็กหนุ่มสาว ต่างจากคนแก่อย่างเราๆ มากน้อยแค่ไหน

เราเดินไป พักเหนือยไป พอหายเหนือยก็เริ่มเดินขึ้นไปต่อ ทีละ 100 เมตร จนในที่สุดเราก็ถึงบนยอดเขาเทวดาในเวลา 5:30 น. เป็นเวลามาตรฐานสำหรับคนทั่วไป หากใครต้องการขึ้นยอดเขาก็ควรวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อน 1.5 ชั่วโมง เพื่อขึ้นไปเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ซึ่งมีความสวยงามจนทำให้เราลืมความยากลำบากตอนเดินขึ้นมากันเลยทีเดียว

บรรยากาศด้านบนเขาเทวดา ค่อนข้างเย็นประมาณ 16 องศา และลมก็พัดแรง หากใครไม่ได้ใส่เสื้อแขนยาวขึ้นมาคงทรมาณในช่วงเช้ามืด เพราะตอนเดินค่อนข้างร้อนและเหงือก็ออกอย่างมากมาย

เราขึ้นมาในขณะที่ท้องฟ้ามืดมิด เห็นดวงดาวกระจายส่องแสงระยิบระบับเต็มท้องฟ้า และมันเป็นภาพที่ชัดเจนมากๆ เสียดายที่กล้องผมไม่สามารถเก็บภาพมาได้ ตอนช่วงแสงแรก เรายังเห็นพระจันทร์เสี้วยกับแสงดาวพฤหัส คู่กันอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้าจึงหายไป

บนยอดเขาเทวดา

ช่วงเวลาที่แสงแรกทะลุผ่านความมืดทำให้เราเห็นแสงสีส้มแดงตามแนวขอบฟ้าสวยงาม และค่อยๆ เห็นทะเลหมอกที่เริ่มจะเด่นชัดขึ้นแต่มันจะอยู่ใกลจากยอดเขามาก เนื่องจากยอดเขาเทวดาอยู่สูงและมีลมแรงมาก จึงทำให้ทะเลหมอกอาจปลิวหายและจางไปจากกระแสลมแรง

เราถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานที่ป้ายพิชิตยอดเขาเทวดา ไว้เป็นความทรงจำอีกด้วย ว่าในครั้งหนึ่งของชีวิตเราเคยขึ้นมาที่แห่งนี้

พิชิตยอดเขาเทวดา

หลังจากนั้นก็เดินลงยอดเขา แน่นอนมันไม่ค่อยเหนื่อยเหมือนตอนขึ้น แต่ต้องระมัดระวัง เพราะเส้นทางลงบางช่วงนั้นชันเอามากๆ โดยเฉพาะ 500-600 เมตร หากไม่ระมัดระวังอาจเกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก หรือลื่นล้ม ซึ่งตัวผมเองก็ลื่นจนก้นกระแทกพื้นไป 1 ครั้ง เหมือนกัน หากมีอาการบาดเจ็บช่วงเดินขึ้นเขาลงเขาคงจะไม่ดีแน่นอน ขอให้ทุกคนระมัดระวังกันด้วยครับ

ยอดเขาเทวดา

เมื่อมาถึงผมก็เข้าไปเก็บเต็นท์นอนเป็นอันดับแรก เพราะมันเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อและเหนื่อยที่สุดสำหรับผม เมื่อเก็บเสร็จแสงแดดก็แผดร้อนออกมา เรารีบทานอาหารให้อิ่มท้องแล้วรีบเดินทางกลับให้ถึงบ้านโดยเร็ว โดยเริ่มเดินทางออกมาจากลานกางเต็นท์ประมาณ 10:00 น.

และนี่คือเส้นทางที่ทำให้ผมอยากบันทึกและจดจำมันเอาไว้ มันคือเส้นทางที่ทำให้ผมนึกไปถึงตอนสมัยเรียนมัธยมต้น ที่ต้องไปกางเต็นท์เข้าค่ายลูกเสือ และตอนกลางคืนมีการออกมาเดินทางไกล มันทำให้พวกเรามีเสียงหัวเราะสนุกสนาน พูดคุย และตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาในเส้นทาง มีหลงทาง มีการเข้าไปในเส้นทางที่ยากลำบาก มีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มันสนุกมากจนหากเมื่อเรามาพบหน้ากันอีกครั้งเรื่องราวที่ผ่านในวันก็อาจถูกนำขึ้นมาพูดคุยกันอีกอย่างสนุกสนาน

บันทึกการเดินทาง วันที่ 29-30 มกราคม 2565