ครั้งแรกกับการพิชิตภูกระดึง 2565
วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565
ภูกระดึง คือ ยอดเขาสูงตั้งอยู่ในจังหวัดเลย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากอดีต จนถึงปัจจุบัน ภูกระดึงก็ยังคงเป็นเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นไปพิชิต แม้แต่ตัวผมเองก็อยากจะมีสักครั้งที่ได้ขึ้นชื่อว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง”
วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 หลังจากเลิกงาน ผมรีบเข้าบ้านเพื่อจัดเตรียมสัมภาระ ถึงแม้ว่าผมจะจัดของเข้ากระเป๋ามาก่อนแล้วล่วงหน้ากว่า 1 สัปดาห์ แต่ก็อดที่จะตรวจเช็คสำภาระในกระเป๋าซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความตื่นเต้น เพราะนี่คือการไปเที่ยวภูกระดึงครั้งแรกของผมและเพื่อนๆ อีก 3 คน ซึ่งตอนนี้ กำลังขับรถทยอยรับเพื่อนแต่ละคน ก่อนจะมารับผมเป็นคนสุดท้ายแล้วค่อยออกเดินทาง
เราไปกัน 4 คน โดยทุกคนก็พึ่งจะเลิกงานมาเมื่อตอนเย็น ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมา แต่ความตื่นเต้นที่จะได้ไปเที่ยวยังภูกระดึงครั้งนี้ ทำให้พวกเราลืมความเหน็ดเหนื่อจากงานที่ทำมาทั้งวัน
เราแวะปั๊มน้ำมันเป็นจุดแรกเพื่อเติมน้ำมัน หลังจากขับรถออกจากบ้านของผมในเวลา 20:30 น. เติมน้ำมันไป 2,430 บาท โดยค่าใช้จ่ายพวกเราตกลงกันว่าจะหารกัน 4 คน หลังจากกลับจากไปเที่ยวเสร็จแล้ว
เมื่อเติมน้ำมันเสร็จสรรพ พวกเราก็มุ่งหน้าไปสู่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยใช้เส้นทาง สระบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น
พวกเรานั่งคุยเฮฮากันไปตลอดทาง เพื่อไม่ให้เกิดความง่วง จนเรามาถึง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ในเวลา 3:00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม 65 ข้างทางมีร้านข้าวต้มโต้รุ่งอยู่ พวกเราจึงแวะสั่งข้าวต้มร้อนๆ และกับข้าวต่างๆ มานั่งทานกัน เหมือนรู้ว่าเช้านี้เราคงไม่ได้กินข้าวก่อนขึ้นภูกระดึงแน่ๆ
ชำระค่าข้าวต้มไป 490 บาท ก็ออกเดินทางไปยัง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ใช้เวลาอีกประมาณชั่วโมงเศษ เราก็เข้ามาถึงยังด้านหน้าทางเข้าอุทยาน ซึ่งต้องชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยชำระผ่านตู้รับเงินอัตโนมัติ
พวกเราไปกัน 4 คน ค่าธรรมเนียมเข้า คนละ 40 บาท/คน รวมเป็นเงิน 160 บาท บวกค่าธรรมเนียมรถยนต์เข้าอีก 30 บาท เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 190 บาท แต่ตู้รับเงินก็ทำผมงงๆ เอาเหมือนกัน เพราะตู้แรกมันเสีย กินเงินผมไป 10 บาท ต้องเปลี่ยนไปใช้ตู้ถัดไป
การใช้ตู้ ก็เหมือนตู้ ATM โดยให้เรา เลือกจำนวนคนเข้า กี่คน รถกี่คัน ระบบก็จะคิดเงินออกมาให้ แล้วเราหยอดเหรียญหรือธนบัตร ในช่องชำระ หากเกินระบบก็จะทอนเป็นเหรียญออกมาให้ครับ สะดวกดี
เมื่อชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว เราก็ขับรถเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะมีลานจอดรถขนาดใหญ่กว้างขวาง เราก็เลือกจอดรถตามสะดวกได้เลยครับ
เมื่อจอดรถเสร็จสรร พวกเราก็เตรียมกระเป๋าสัมภาระและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม เช่น ไม้เท้าเดินป่า น้ำมันมวยทาแก้ปวดเมื่อย หมวก และอื่นๆ ที่คิดว่าต้องหยิบใช้ระหว่างทางอย่างง่าย
ที่สำคัญผมก็จะไม่ลืมที่จะเข้าห้องน้ำ ทำธุระหนักเบาให้เรียบร้อยก่อน เพราะหากข้าศึกประชิดประตูหลังเข้ามาจะเกิดเรื่องใหญ่ ยิ่งในป่าในภูเขาด้วยมันจะลำบากนะครับ
จากนั้นพวกเราก็เดินไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยให้เพื่อนผมทั้ง 3 คน รออยู่ด้านนอก จะได้ไม่ไปแออัดยัดเยียดกับคนอื่นๆ ส่วนตัวผมนั้น ก็เข้าไปด้านใน ต่อแถวเข้าคิว โดยเจ้าหน้าที่จะแบ่งไว้ 3 แถวต่อ 1 ช่อง โดย 2 แถวแรกจะเป็นผู้ที่จองผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ และอีกแถวจะเป็นผู้ที่ Walk in เข้ามา ช่วงนี้มันก็จะชุลมุนวุ่นวายเล็กน้อย
เมื่อถึงคิวเรา ก็แสดงบัตรประชาชน แสดงบัตรค่าธรรมเนียมที่เราจ่ายผ่านตู้ตอนเข้ามา และลงชื่อ เบอร์โทรศัพท์ จำนวนสมาชิก ก็จะได้รับบัตรคิว ตามจำนวนคน เพื่อไปยื่นตรงป้อมด่านตรวจ3 บริเวณทางขึ้น
หลังจากได้รับบัตรคิวแล้ว ก็อย่าลืมไปซื้อประกันชีวิต คนละ 10 บาท เมื่อได้ใบเสร็จชำระแล้ว ให้แต่ละคนถ่ายรูปพร้อมกับบัตรชำระค่าธรรมเนียม เก็บภาพไว้ หากมีการเคลมประกันจะได้เป็นหลักฐาน ว่าเราได้มาใช้บริการในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ยังไม่จบแค่นี้ เรายังต้องไปชำระค่าพื้นที่กางเต็นท์ อีกคนละ 30 บาท/คืน พวกเราไปกัน 4 คน 2 คืน รวมกันเป็น 240 บาท
ผมซื้อแผนที่ติดไปด้วย 1 ใบ เอาไว้ดู ว่าเราจะไปเที่ยวไหนกันบ้างเวลาอยู่ด้านบนภูกระดึง ราคาแผ่นละ 10 บาทเท่านั้นเอง
เสร็จสรรเรียบร้อยทุกอย่าง ก็เดินออกไปทางด้านหลังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตรงไปตามทางที่จะขึ้นภูกระดึง จะผ่านจุดที่ต้องรับบัตรคิวจ้างลูกหาบ คนเยอะมากบริเวณนี้ แต่พวกเราไม่จ้างลูกหาบ เนื่องจากเราเช่าเต็นท์ร้านค้าด้านบนไว้ เป็นเต็นท์ขนาด 2 คนนอน ราคาคืนละ 300 บาท ทำให้เราเตรียมแค่เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์จำเป็นใส่กระเป๋ามาเท่านั้น เราจึงเลือกที่จะแบกกระเป๋าเป้เดินขึ้นไปเอง ทำให้ไม่เสียเวลาในช่วงนี้
เรามาถึงตรงด่านตรวจ 3 ทางขึ้นเวลา 6:00 น. อากาศเย็นสบายๆ มีละอองฝนเล็กน้อย แต่ไม่ตกหนัก พวกเราต่างเดินขึ้นไปด้วยความตื่นเต้น
เดินไปได้ 10 นาที ก็รู้เรื่อง การหายใจเริ่มถี่ และมีอาการเหนื่อยหอบ แน่นอนครับเราก้าวเดินขึ้นเนินตลอดเวลา แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังคงเดินหน้าต่อไป จนพบกับ เจ้าของร้านค้า ลุงๆ ป้าๆ ที่แบกสินค้าขึ้นไปขายด้านบน และยังพบกับลูกหาบที่แบกน้ำแข็งและอื่นๆ ขึ้นไปด้วย เราจึงเดินคุยหยอกล้อกันไปตลอดทาง
ลุงป้า ทั้งหลายก็เชิญชวนให้เราอุดหนุนสินค้าในร้าน เมื่อพวกเราขึ้นไปถึงด้วยเช่นกัน ก็ดีครับมาเที่ยวกันทั้งทีก็ควรกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วยก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ
ตลอดเส้นทางลุงกล้วย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าที่ 5 ด้านขวามือ บนซำแฮก ลุกแกได้เล่าให้ฟังว่า “ซำ” คือภาษาท้องถิ่นอีสาน ซึ่งแปลว่า น้ำ หรือ บ่อน้ำ ที่ผุดขึ้นจากดิน แน่นอนครับว่า แต่ละซำก็จะต้องมีตาน้ำ หรือบ่อน้ำที่ผุดจากดินขึ้นมา ส่วนคำต่อท้ายลุงแก่ไม่ได้เล่าให้ฟังนะครับว่ามาจากอะไร
เดินกันไปแบบทุลักทุเล จนผ่านไปครึ่งชั่วโมง เราก็ถึง “ซำแฮก” ผมก็ได้เดินสำรวจ มันก็คลายๆ กับศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ มีทุกอย่างที่จำเป็นขาย ผมก็ไม่ลืมที่จะแวะไปอุดหนุ่นร้านลุงกล้วย ป้าพัน ที่เดินคุยกันมาตลอดทาง
ผมสั่ง แตงโม 1ชิ้น ราคา 15 บาท ไข่ปิ้ง 1 ลูก ราคา 15 บาท น้ำดื่มขวดเล็ก 1 ขวด ราคา 15 บาท รวมเป็น 45 บาท
ส่วนเพื่อนๆ ผมก็ต่างคนต่างอุดหนุนกันไป ยอมรับว่า แตงโม ที่ซำแฮก อร่อยที่สุดในโลกเลยเชียว
พักเหนื่อยกันได้ซัก 15 นาที เราก็เดินทางต่อไปยัง ซำบอน, ซำกกกอก, ซำแล้วซำเล่า ในที่สุดเราก็ลากสังขารมาจนถึง “ซำแคร่” ซึ่งเป็นซำสุดท้ายก่อนที่เราจะขึ้นสู่ “หลังแป” จากที่เราคิดกันว่า “ซำแฮก” โหดและเหนื่อยสุดๆ แล้ว มาเจอระยะทางที่จะขึ้นหลังแป ถือว่าโหดกว่า มันเป็นทางที่จะต้องเดินไต่ระดับขึ้นไปตามโขดหินผา ดีที่มีบันไดเหล็กพาดไว้ให้เราไต่ขึ้นไป ทำให้การเดินขึ้นไม่ยากมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถือว่าง่าย เนื่องจากเราต้องใช้พละกำลังในการที่จะดึงตัวขึ้นไปบนที่สูง การยกขาขึ้นแต่ละครั้งค่อนข้างใช้กำลัง ต้นขา น่อง อย่างมาก หากเราพยายามฝืน อาจทำให้เป็นตะคิว ได้ง่ายๆ และจำทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บโดยใช่เหตุ ดังนั้น หากเกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อต้นขาและน่องจนเริ่มจะแข็งเกร็ง ผมก็จะหยุดทันที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายสักระยะ มันก็ทำให้เราสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ โดยไม่บาดเจ็บ
เมื่อก้าวถึงหลังแป
ในที่สุดเราก็ขึ้นสู่บันไดเหล็ก คู่สุดท้าย โดยไต่ระดับขึ้นมาจนถึงหลังแป พอเรามาถึงบนลานหลังแป ก็ปาเข้าไป 10:30 น. อยากจะถ่ายภาพตรงป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” แต่ด้วยความเหนื่อยล้า และแสงที่ย้อนเข้ากล้อง ก็ทำให้พวกเราไม่อยากจะเดินไปถ่ายภาพ แต่มุ่งหน้าเข้าสู่ร้านค้า และซื้อน้ำดื่มๆ เย็นๆ กินแก้กระหาย รวมถึงนั่งพักให้สบายๆขาก่อน เพราะเรายังต้องเดินทางไปยังลานกางเต็นท์อีก 3 กิโลครึ่ง
เราเดินคุยเล่นกันมาตลอดเส้นทาง กับบรรยากาศสองข้างทางที่แปลกตา มีป่าหญ้าและต้นสนสลับขึ้นแซมสลับกันไปแบบห่างๆ และบางต้นยืนตาย ดำเป็นตอตะโกจากไฟป่า อากาศไม่ร้อนมาก ทำให้พวกเราเดินได้อย่างสบายๆ แต่ทุกคนก็มักตั้งคำถามสบถกันมาตลอดเส้นทางว่า “เมื่อไหร่จะถึงสักทีว่ะ”
เดินกันไปได้สักระยะ ก็เห็นป้ายศาลเจ้า ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้จริงๆ ว่าศาลอะไร แต่พวกเราก็พร้อมกันยกมือไหว้ขอพร ให้พวกเราท่องเที่ยวข้างบนนี้กันอย่างปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง เดินต่อมาอีกหน่อยก็เห็นป้ายบอกรายละเอียดสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านค้า เดินเข้ามาก็จะเห็นลานกางเต็นท์ขนาดใหญ่ ใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ เป็นลานกางเต็นท์ที่กว้างขวาง และดูเป็นระเบียบสวยงามอย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
เรารีบเดินกันไปตรงบริเวณร้านค้าและโทรหาร้านค้าที่เราได้จองเต็นท์นอนกันไว้ แล้วก็รีบนำสัมภาระเข้าไปในเต็นท์ทันที ก่อนจะออกมาหาอะไรทาน แล้วก็เข้าเต็นท์นอนหลับกลางวันทันที
พวกเราตื่นกันมาตอน 16:00 น. และเตรียมตัวเพื่อจะไปดูพระอาทิตย์ตกดินที่ “ผาหมากดูก” ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร มีนักท่องเที่ยวเดินตามกันไปเป็นระยะๆ ทำให้บรรยากาศไม่เงียบเหงา
พอถึงผาหมากดูก เราก็ได้ห็นบรรยากาศริมผา สายลมพัดมากระทบหน้าตลอดเวลา และแสงพระอาทิตย์กำลังจะลับของฟ้า เป็นสีน้ำเงินอมส้ม สวยงาม
หลังจากชมพระอาทิตย์ตกดินเรียบร้อยแล้ว เราก็พากันเดินกลับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากที่เย็นสบายกลายเป็นหนาวสะท้านเข้ากระดูก ผมไม่ได้เตรียมแจ็คเก็ตกันหนาวมา แต่มีแจ็คเก็ตกันฝนมาด้วยก็คว้าเอามาใส่ แต่มันก็ทำให้หนาวเย็นอยู่อย่างนั้น จนต้องรีบเดินกลับให้ถึงเต็นท์โดยเร็ว
ผมชอบบรรยากาศตอนนี้มาก คือ ท้องฟ้าจะมีทั้งสีน้ำเงิน สีแดง สีส้ม และสีม่วง เจือจางผสมกันไปเป็นแบล็คกราวน์อย่างสวยงามเหมือนภาพวาด และมีภาพของต้นสนที่ยืนต้นตายเป็นตอไม้สีดำสลับกันไปอย่างสวยงาม อยู่ได้หน้าของฉากหลังท้องฟ้าที่สลับสีอย่างสวยงาม มันเป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้จริงๆ
ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ผู้ใหญ่คนละ 40 บาท/ครั้ง
ค่ารถยนต์ คันละ 30 บาท/ครั้ง
ค่ากางเต็นท์ คนละ 30 บาท/คืน
ค่าประกันชีวิต คนละ 10 บาท/คน
แผนที่ภูกระดึง แผ่นละ 10 บาท
เต็นท์เช่าร้านค้า (ร้านบุญมีโอชา) เต็นท์นอนขนาด 2 คน พร้อมผ้าห่ม แผ่นปูนอนและหมอน แผ่นผ้ายางกันน้ำค้าง บริการกางเต็นท์ให้ ราคา 300 บาท/คืน
ค่าอาหาร แตงโม ชิ้นละ 10-15 บาท
น้ำดื่ม 600ml. ขวดละ 15-30 บาท ราคาแพงตามระยะทาง
ข้าวจานละ 70 บาท ปริมาณเต็มอื่ม
ไข่ดาว 15 บาท
ไข่ต้ม ไข่ปิ้ง 15 บาท
อาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และอื่นๆ ราคาจะแพงตามระยะทางและความสูง เพราะร้านค้าจะต้องแบกของขึ้นไปขายเอง หรือต้องจ้างลูกหาบแบกขึ้นไป
ส่วนตัวคิดว่าราคายุติธรรม ไม่ได้แพงอะไร ตามห้างสรรพสินค้าราคาอาหารหลายอย่างแพงกว่าเยอะครับ
สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งมวล เราหาร 4 ก็ตกเฉลี่ยวคนละ 1,800 บาท/คน ถือว่าไม่แพงเลยทีเดียวสำหรับทริปภูกระดึง 3 วัน 2 คืน ที่สุดแห่งความประทับใจ