กางเต็นท์ฟังเสียงน้ำมูล
วันที่ 26 ธันวาคม 2565
หลังจากเราเดินทางเที่ยวชมภาพเขียนสีโบราณใน อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เราก็เดินทางกันต่อโดยจุดหมายของเราคือ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เส้นทางสะดวกสบายเช่นเดิม ผมใช้ GPS นำทางไปยังจุดหมายได้โดยง่าย เรามีแผนที่จะนอนแคมป์ปิ้งโดยการกางเต็นท์นอนกันที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
ผมไม่มีข้อมูลลานกางเต็นท์ที่แห่งนี้เท่าไหร่นัก จึงไม่รู้ว่าลานกางเต็นท์เป็นแบบไหน ตอนที่เราเริ่มเดินทางออกมาจาก อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ก็บ่ายสามโมงเย็นแล้ว
หากใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราจะเดินทางไปถึงที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ประมาณบ่ายสี่โมงเย็น อาจทำให้เราได้แค่กางเต็นท์และหาอะไรทานแล้วก็เข้านอนเพี่ยงเค่นั้นเอง
เส้นทางต้องผ่านสันเขื่อนปากลำน้ำมูล แต่เนื่องจากเวลาล่วงเลยมาจนถึง บ่ายสามโมงครึ่งแล้ว ผมกลัวว่าจะมืดค่ำก่อนกางเต็นท์ เดี๋ยวจะลำบาก เพราะยังไม่เคยเห็นสถานที่ว่าเป็นอย่างไร
ผ่านด่านตรวจก็ชำระค่าบริการเข้าอุทยานตามปกติ ผู้ใหญ่คนละ 40 บาท เด็ก 20 บาท รถยนต์คันละ 30 บาท
จนเข้ามาถึงด้านใน จุดนี้คือจุดกางเต็นท์ มีอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เราต้องไปลงทะเบียนคัดกรองโควิด และชำระค่ากางเต็นท์คนละ 30 บาท/คืน
มาเห็นลานทีแรกรู้สึกว้าวมากๆ มีคนมากางเต็นท์อยู่ก่อนแล้วเพียงแค่เต็นท์เดียว ลานกว้าง สวยงาม สะอาดตา มีต้นไม้ร่มรื่น ด้านหน้าเป็นแก่งตะนะ สวยงาม พร้อมกับเสียงสายน้ำกระทบโขดหิน
ผมรีบลงมือกางเต็นท์ก่อนที่จะมืดค่ำ โดยเลือกพื้นที่ เรียบๆ ใกล้ร่มไม้ หากพื้นไม่เรียบก็นอนไม่สบายตัว หรือพื้นเองมากไป การนอนก็จะไหลไปตามความเอียงของพื้น
และต้องสังเกตทิศ ตะวันออก ตะวันตก ว่าตอนเช้าพระอาทิตย์จะขึ้นทางไหน มีร่มไม้บังแสงพระอาทิตย์เพื่อเป็นร่มเงาในตอนเช้าหรือไม่ เดี๋ยวตอนเช้าจะร้อนแดดทำอะไรกันไม่ได้เลย
กางเต็นท์ที่แก่งตะนะครั้งนี้ ผมไม่กางทาร์ป เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างจะร่มรื่น มีเงาไม้เยอะเลย
สถานที่กางเต็นท์อุทยาน ค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่อุทยานเข้ามาเดินดูตรวจตรา และพูดคุยสนทนาให้คำแนะนำหลายๆ อย่าง
เราก็พักผ่อนได้อย่างสบายใน และที่นี่มีจุดให้ต่อปลั๊กไฟ ชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ด้านหลังอาคาร และมีห้องน้ำแยกชาย หญิง ห้องน้ำสะอาด
ผมเดินลงไปดูด้านหน้าริมแก่งตะนะ จะมองเห็นสะพานแขวนข้ามลำน้ำมูล จะมีอยู่ด้วยกัน 2 จุด แต่ผมไม่มีเวลาเดินทางไปสำรวจ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก
สายน้ำมูลไหลเชี่ยวลงไปยังแม่น้ำโขง เสียงกระทบโขดหินดังตลอดเวลา เหมือนเรากำลังฟังเสียงน้ำตก
เส้นสายน้ำที่ไหลลงไปจะไปจรดกับแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามเป็นาบ้านชาวบ้านริมน้ำ มีการหาปลากันด้วยครับ
กลับมาที่เต็นท์นอนของเรา ตอนนี้เหนื่อยจากการเดินทาง ก็เลยสั่งร้านค้าสวัสดิการ ตรงอาคารสีแขียว มีอาหารตามสั่งขาย รสชาติอร่อยและราคาไม่แพง แต่ต้องรีบสั่งนะครับ
หากมืดค่ำ ก็จะปิดบริการ
พระอาทิตย์ตกดินตรงสะพานแขวนอีกด้านหนึ่ง สวยงามตามท้องเรื่อง จุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
อากาศเริ่มหนาวเย็น และน้ำค้างก็ลงมาจนฟลายชีทเต็นท์เปียก เราไม่ได้กางทาร์ป ป้องกัน จึงต้องรีบเข้านอนในเต็นท์
เต็นท์หลังนี้ใช้งานมา 1 ปีแล้ว นอนกัน 3 คนพ่อแม่ลูก อบอุ่นปลอดภัย แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันคับแคบเกินไปแล้ว เพราะลูกก็เริ่มโตขึ้น คงได้เรื่องอ้างซื้อเต็นท์ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ตอนเช้าๆ อากาศดีแจ่มใส่ พร้อมกับความเย็นสดชื่น จริงๆ แล้วการเดินทางท่องเที่ยวกางเต็นท์แคมป์ปิ้งแบบนี้ อาจดูแล้วไม่มีอะไรเลย แถมเหนื่อยต้องมากางเต็นท์ เก็บเต็นท์
ทำอาหารกิน และใช้ห้องน้ำรวม แต่มันกลับสร้างความทรงจำระหว่างการเดินทาง และสร้างความสัมพันธ์ในการทำกิจกรรมร่วมกันสำหรับครอบครัวได้เป็นอย่างดี
การเดินทางช่วงปลายปี 2565 ในภาคอีสานของไทย จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มตั้งแต่ สามพันโบก กางเต็นท์นอนผาชะนะได เที่ยวชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม สุดทายมากางเต็นท์นอน อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
แล้วเดินทางกลับ 3 วัน 2 คืน ถือเป็นการเปิดประสบการณ์สู่โลกกว้าง หากอยู่บ้านเฉยๆ เราคงไม่ได้เห็นได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ ชิวิตเราสั้นควรเดินทางเก็บเกี่ยวความฝันความทรงจำดีๆ ให้กับตัวเองและครอบครัวให้มากที่สุด
สถานที่ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
- ผู้ใหญ่คนละ 40 บาท
- เด็กคนละ 20 บาท
- รถยนต์คันละ 30 บาท
- ค่ากางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน
- มีร้านค้าสวัสดิการจำหน่ายอาหาร
- ห้องน้ำแยกชาย หญิง
- มีจุดต่อชาร์จไฟ สำหรับอุปกรณ์
- บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ