อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีลานกางเต็นท์ให้บริการ 2 แห่ง
คือ ลานกางเต็นท์ลำตะคอง และลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ "ลานกางเต็นท์ลำตะคอง" เป็นลานกางเต็นท์ขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบาย ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ เป็นลานกางเต็นท์ขนาดเล็ก อยู่ใกล้กับน้ำตกเหวสุวัต (ปิดให้บริการ) เหมาะสำหรับการกางเต็นท์พักแรม 2 วัน 1 คืน
วันที่ 21-22 ตุลาคม 2566
วันหยุดสุดสัปดาห์อาทิตย์นี้เป็นวันหยุดยาว ติดต่อกัน 3 วัน ตั้งแต่วันเสาร์ อาทิตย์ จนถึงวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม ผมจึงใช้โอกาสนี้พาครอบครัวไปเที่ยวกางเต็นท์แคมป์ปิ้ง ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากเป็นอุทยานที่ไม่ไกลจากบ้านมากเกินไป
แต่ด้วยความที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็ทำให้วันหยุดยาวๆ แบบนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากางเต็นท์จำนวนมาก เป็นประจำแบบนี้มาหลายปีแล้ว
ผมจำได้ว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ผมก็เคยมากางเต็นท์ที่นี่จากการชักชวนของน้องๆ ที่รู้จักกัน พอมาถึงผมก็ต้องพบกับเต็นท์จำนวนมากมายอยู่บนลานกางเต็นท์ลำตะคอง ปัจจุบันลานกางเต็นท์แห่งนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยผู้คนในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ผิดกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ผมเดินทางออกจากบ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 8:00 น. ขับรถมาแบบสบายๆ ไม่ต้องรีบ รถบนถนนมิตรภาพนั้น มีจำนวนเยอะพอสมควรในเช้าวันเสาร์นี้
เรามุ่งหน้าไปเข้าทางด่านตรวจฝั่ง "ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่" ถึงตรงบริเวณด่านประมาณ 10:30 น. ก็เปิดแอบพลิเคชั่น QueQ ที่ได้ชำระเงินไว้แล้ว จะมี QR Code ให้ทางเจ้าหน้าที่แสกนผ่านไป โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาลงทะเบียนและชำระเงินสดที่ด่าน
เส้นทางนี้เป็นถนนลาดยางไปตลอดทาง สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชะอุ่มในฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่สดชื่นและสบายตากับวิวทิวทัศน์ธรรมชาติตลอดเส้นทาง
เราพบฝูงลิงอยู่บริเวณถนนช่วงหนึ่ง พวกลิงเหล่านี้จะนั่งเล่นนอนเล่นกันที่ริมถนน และบางตัวก็เดินข้ามถนนไปมา จนบรรดารถนักท่องเที่ยวต้องชลอความเร็ว เพราะเกรงว่าจะชนลิง แต่สุดทายทุกคันก็ชลอดูความน่ารักของพวกมันมากกว่า
เราเข้ามาถึงลานกางเต็นท์ลำตะคอง ซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย มีเต็นท์กางกันเต็มพื้นที่ไปหมด ผมขับรถวนดูอยู่สองรอบ ก็วนกลับไปด้านในตรงลาน D
มีที่จอดรถว่างอยู่เยอะ ก็จอดรถและลงไปสำรวจพื้นที่โดยรอบเพื่อหาที่กางเต็นท์ แต่ก็พบกับพื้นที่ว่างๆ ที่เต็มไปด้วยมูลของกวาง ซึ่งเขามากินหญ้าและก็ถ่ายมูลไว้เต็มไปหมด มูลกวางจะเป็นก้อนกลมๆ สีดำ และมีกลิ่นคล้ายๆ มูลของวัว
ผมจึงเลือกกางเต็นท์ใกล้กับลานจอดรถ เนื่องจากบริเวณนี้ไม่มีต้นหญ้ามาก เป็นลักษณะลานหินกรวด จึงไม่มีมูลของกวาง ผมลงสมอมันตรงนี้แหละ เพราะที่อื่นๆ ก็เต็มหมดแล้ว
ผมศึกษาข้อมูลก่อนมากางเต็นท์ที่เขาใหญ่ จะพบว่ามีสัตว์พวก ลิง กวาง เม่น ที่มักจะมาหาของกินกับคนที่ไปกางเต็นท์ ถ้าแย่สุดอาจมีการเข้าไปในเต็นท์โดยการทำลายฉีกเต็นท์ให้พังได้เลย ผมจึงไม่นำอาหารมาด้วย
ครั้งนี้ผมเดินไปซื้อ ข้าวไข่เจียวหมูสับจากร้านสวัสดิการกลับมาทานที่เต็นท์ รสชาติธรรมดาๆ ไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่นัก แต่ก็ทานให้รอดไปหนึ่งมื้อ
กลางคืนหลายๆ คนคาดหวังว่าจะได้เห็นฝนดาวตกในคืนนี้ แต่ผมเงยหน้ามองดูท้องฟ้าแล้ว น่าจะเป็น ฝนตกมากกว่าดาว เพราะเมฆฝนค่อยๆ ก่อตัวมากขึ้นๆ
บรรยากาศลานกางเต็นท์ ที่เต็มไปด้วยผู้คนและเต็นท์มากมายหลากหลายสี พร้อมกับไฟประดับ ทำให้ดูคลายงานวัด หรือตลาดโต้รุ่งอย่างไรก็ไม่รู้สิ แต่ก็สวยงามดี
ในช่วงเวลา สี่ทุ่มตรง เจ้าหน้าที่ใช้เสียงตามสายประกาศ ให้ทุกคนงดใช้เสียงดังรบกวนทุกชนิด และให้ปิดไฟประดับเต็นท์ ทำให้ลานกางเต็นท์มีแต่ความสงบ และเสียงที่ตามมาคือเสียงสายฝนแทน ฝนตกหนักไปจนถึงเช้ามืดกันเลยทีเดียว แต่ก็ไม่มีลมแรงให้ต้องระแวง
ตื่นเช้ามาวันนี้ พร้อมกับอากาศที่สดชื่นหลังฝนตกเมื่อคืน อากาศกำลังเย็นสบายๆ ที่ 20.5 องศา ผมรีบตื่นมาตั้งแต่ตีห้า ไปเข้าห้องน้ำก่อนที่จะมีคนมาใช้กันเยอะกว่านี้ เสร็จสรรก็เก็บของไว้ในรถ และตากเต็นท์ให้แห้งก่อนที่จะเก็บ ช่วงนี้ก็ไปหาอะไรทานที่ร้านค้าสวัสดิการ
ลานกางเต็นท์ข้างร้านค้าสวัสดิการจะค่อนข้างสวยงาม และติดริมธารลำตะคอง หากใครมาก่อนก็ควรที่จะเลือกกางเต็นท์ในจุดนี้ ถ้าพื้นที่ยังไม่เต็ม
หลังจากทานอาหารมื้อเช้าพร้อมกาแฟเสร็จ ผมก็เห็นสะพานแขวน จึงชวนครอบครัวเดินข้ามไปสำรวจว่าฝั่งตรงข้ามมีอะไรให้ชื่นชมบ้าง
เพื่อเป็นการขั้นเวลา ช่วงนี้ต้องรอให้เต็นท์แห้งจากฝนเมื่อคืน เราก็พากันเดินเล่นถ่ายรูปกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องรีบร้อน โดยเราเดินข้ามสะพานไปถึงฝั่งตรงข้าม จะมีเส้นทางเดินเล็กๆ ให้เราเดินไป ปรากฏว่าในบริเวณทางเดินเต็มไปด้วยตัวทากดูดเลือดที่กำลังคืบคลานมาหาพวกเรา จึงต้องถอยทัพกลับเต็นท์กันก่อน ฮ่า ฮ่า
เมื่อเช็ดน้ำจนแห้งผมก็จัดการเก็บเต็นท์ และขับรถเพื่อเดินทางไปเที่ยวน้ำตกเหวสุวัต ซึ่งเลยจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ไปไม่ไกลมาก ในช่วงที่ผมขับรถผ่านลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ผมไม่เห็นเต็นท์นักท่องเที่ยวเลยสักหลังเดียว ไม่เห็นรถนักท่องเที่ยวจอดด้วย มาทราบภายหลังว่าเขายกเลิกการกางเต็นท์ที่ผากล้วยไม้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวโดนช้างทำร้ายจนเสียชีวิต
เรามาถึงที่ลานจอดรถน้ำตกเหวสุวัต และต้องเดินเท้าลงไปด้านล่างอีกเล็กน้อย ไม่ไกลมาก มีบันไดให้เดินไปได้อย่างสะดวกสบาย น้ำตกเหวสุวัตเป็นน้ำตกขนาดไม่สูงใหญ่มาก แต่ก็มีน้ำตกที่ไหลแรง เจ้าหน้าที่ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวลงไปเล่นน้ำแล้วเกิดเสียชีวิตที่นี่
หลังจากเราชื่นชมน้ำตกจนพอใจแล้วก็เดินขึ้นไปยังลานจอดรถและขับรถกลับบ้าน
การเตรียมตัว
- จองลานกางเต็นท์ล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ แอพพลิเคชั่น QueQ สามารถโอนชำระค่าบริการได้เลย
- เตรียมเต็นท์ เครื่องนอน ถุงนอน หมอน แผ่นรองนอน
- เตรียมอุปกรณ์ทำอาหาร (ยกเว้นการปิ้งย่าง) อาหาร และน้ำดื่มให้พร้อม
- เตรียมอุปกรณ์สุขอนามัย สบู่ ยาสีฟัน และยารักษาโรคประจำตัว ยากันยุง กันทาก เห็บป่า
- เตรียมไฟฉาย อุปกรณ์ให้แสงสว่าง ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์และกล้องถ่ายภาพ
- เตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับ พักแรมค้างคืน 1 คืน กับชุดเดินศึกษาธรรมชาติ
- ศึกษาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและจุดชมวิวต่างๆ ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด
แผนการเดินทาง
วันแรก
- เดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง กว่าๆ
- เช็คอินเข้าลานกางเต็นท์ลำตะคองชำระเงินสด หรือแสดง QR code หากชำระค่าบริการผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ ด่านตรวจเนินหอม, ด่านตรวจ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
- ตั้งเต็นท์และจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ
- รับประทานอาหารกลางวัน ร้านค้าสวัสดิการ หรือจะทำอาหารทานเองก็แล้วแต่สะดวก
- เดินศึกษาธรรมชาติเส้นทางกองแก้ว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 2 กิโลเมตร ผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา
- รับประทานอาหารเย็น
- ชมดาวบนฟ้า
- เข้านอนตามกฏอุทยาน ปิดไฟและงดใช้เสียงเวลา 22:00 น.
วันที่สอง
- รับประทานอาหารเช้า กาแฟ
- เก็บเต็นท์และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย
- ขับรถไปน้ำตกเหวสุวัต
- เดินศึกษาธรรมชาติเส้นทางน้ำตกเหวสุวัต เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ผ่านป่าดิบเขา ชมน้ำตกเหวสุวัต ที่มีความสูง 100 เมตร
- กลับมารับประทานอาหารกลางวัน
- เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ข้อควรระวัง
- ควรกางเต็นท์ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ และสายไฟฟ้า
- ควรดูแลรักษาความสะอาดของพื้นที่กางเต็นท์
- ควรระวังสัตว์ป่าที่อาจเป็นอันตราย เช่น ช้างป่า กวาง เม่น ลิง และตัวทากดูดเลือด กับเห็บกวาง เป็นต้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปด้วย
- ควรเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
- ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด
- ควรจองที่พัก พื้นที่กางเต็นท์ล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว
- ควรเตรียมอุปกรณ์กางเต็นท์ให้พร้อม เช่น เต็นท์ ถุงนอน หมอน ผ้าห่ม ไฟฉาย ไฟแช็ค อุปกรณ์ทำอาหาร อุปกรณ์รับประทานอาหาร
- ควรเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการเดินป่า เช่น รองเท้าเดินป่า ถุงเท้าหนา หมวก แว่นกันแดด เสื้อกันฝน น้ำดื่ม และอาหารว่าง
- ควรศึกษาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติให้ดีก่อนออกเดินทาง
รายละเอียดเพิ่มเติม
ลานกางเต็นท์ลำตะคอง (ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ปิดให้บริการ)
- อัตราค่าเข้าใช้บริการเด็กไทย อายุ 3-14 ปี : 20 บาท/คน
- อัตราค่าเข้าใช้บริการผู้ใหญ่ชาวไทย : 40 บาท/คน
- อัตราค่าบริการยานพาหนะเข้าพื้นที่ รถยนต์ 4 ล้อ : 30 บาท/คัน
- อัตราค่าบริการพื้นที่กางเต็นท์ผู้ใหญ่ : 30 บาท/คน/คืน
- อัตราค่าบริการพื้นที่กางเต็นท์เด็ก : 10 บาท/คน/คืน
- สิ่งอำนวยความสะดวก : มีห้องน้ำ ห้องสุขา ลานจอดรถ ร้านค้า ร้านอาหาร
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกเหวสุวัต
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้
ข้อควรระวังในการกางเต็นท์แคมป์ปิ้ง
- ควรกางเต็นท์ในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ใกล้กับต้นไม้ใหญ่หรือแนวสายไฟฟ้า
- ควรกางเต็นท์ให้ห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 20 เมตร
- ควรกางเต็นท์ในลักษณะที่แข็งแรง ไม่เอียงหรือล้มง่าย
- ควรเผื่อพื้นที่ว่างรอบเต็นท์สำหรับทางเดินและกิจกรรมต่างๆ
- ควรตรวจดูพื้นที่ ว่ามีรังมด แมลง และมีเห็บป่า หรือไม่
- ควรเก็บเต็นท์ให้เรียบร้อยก่อนออกจากพื้นที่
หวังว่าแผนการเดินทางนี้จะช่วยให้คุณกางเต็นท์แคมป์ปิ้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัยนะครับ